Computational Thinking and Programming Skill ม.ต้น

วันและเวลาอบรม

วันที่  15 – 17 มี.ค. และ 23 – 24 มี.ค. 2567   เวลา 09.00 – 16.00 น. 

อบรมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ 

        ขอเชิญชวนน้อง ๆ ม.ต้น เข้าร่วมการอบรมหลักสูตรวิทยาการคำนวณและทักษะการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น (Computational Thinking and Programming Skill) ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งคอร์สนี้ออกแบบมาเพื่อให้น้อง ๆ ได้พัฒนาด้านการคิดเชิงตรรกะ เรียนรู้เกี่ยวกับอัลกอริทึม และฝึกทักษาการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น สอนโดยวิทยากรจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ เมื่อเข้าอบรมครบทุกบทเรียนจะได้รับใบประกาศนียบัตรจาก THNIC Academy

คุณสมบัติผู้สมัคร 

  • กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 
  • มีความสนใจและตั้งใจจริง
  • ไม่จำเป็นต้องเคยเขียนโปรแกรมมาก่อน
  • สามารถเดินทางมาเข้าร่วมอบรมได้ตลอดหลักสูตร

สถานที่อบรม

ศูนย์การเรียนรู้มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNIC Academy)

ที่ตั้ง: 56/1 ถนนมหาดไทยบำรุง, ตำบลระแหง, อำเภอเมืองตาก, จังหวัดตาก

เงื่อนไขและข้อกำหนดที่สำคัญ

ผู้เข้าอบรมจะได้รับใบเกียรติบัตรจาก THNIC Academy เมื่อเข้าอบรมครบทุกครั้งและผ่านเกณฑ์การอบรมเท่านั้น

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

นายธรากร จันลาภา (พี่ชัย)

โทร. 084-1562991

Email: tharakorn@thnic.or.th หรือ ชัยธรากร@คน.ไทย

สัปดาห์ที่ 1 วันที่ 15 – 17 มีนาคม 2567

ศูนย์การเรียนรู้มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNIC Academy) จัดอบรมหลักสูตร Computational Thinking and Programming Skill ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยแบ่งการอบรมเป็น 2 สัปดาห์ สัปดาห์แรกจัดอบรมในวันที่ 15 – 17 มีนาคม 2567 มีนักเรียนในพื้นที่จังหวัดตากให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมอบรมจำนวน 26 คน โดยคุณภาคภูมิ ไตรพัฒน์ ผู้อำนวยการ THNIC Academy ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการอบรมและอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรนี้

จากนั้น ผศ.ดร.อัครา ประโยชน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และทีมวิทยากรได้นำเข้าสู่การอบรม เริ่มจากการปูพื้นฐานวิชาวิทยาการคำนวณ (Computational Thinking) การเรียนแนวคิดเพื่อนำไปสู่การเขียนโปรแกรมโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือการเรียนโค้ดดิ้งแบบถอดปลั๊ก (Unplugged Coding) เป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการแก้ปัญหาแบบเป็นลำดับขั้น โดยการแยกย่อยปัญหาที่ซับซ้อนเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ทีละส่วน มีกิจกรรมเกมส์ที่ช่วยเพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาที่เป็นระบบ 

จากนั้นได้เริ่มฝึกสร้างโปรแกรมเบื้องต้นผ่านเครื่องมือจาก code.org โดยเริ่มจากการเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือพื้นฐานที่ใช้เขียนโปรแกรม แล้วฝึกฝนการสร้างเกมส์และการออกแบบแอปพลิเคชัน (Application) อย่างง่ายอีกด้วย ผู้เข้าร่วมอบรมให้ความสนใจและตั้งใจร่วมกิจกรรมกันอย่างสนุกสนาน

สัปดาห์ที่ 2 วันที่ 23 – 24 มีนาคม 2567

น้อง ๆ ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมเพื่อพัฒนาเกมส์ต่าง ๆ เช่น เกมส์ทอนเหรียญ เกมทำข้อสอบ 4 ตัวเลือก ที่สามารถปรับปรุงนำไปใช้งานหรือพัฒนาต่อยอดเพื่อทำเป็นแบบทดสอบได้ รวมทั้งฝึกออกแบบหน้าจอด้วยการวาด Wireframe และออกแบบ UX/UI อีกด้วย  ก่อนจบการอบรมน้อง ๆ ได้สรุปและสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้มาตลอดหลักสูตร พบว่าหลายคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิชา Computational Thinking มากขึ้นและสนุกกับการฝึกเขียนโปรแกรมเบื้องต้นต่าง ๆ จนสามารถเห็นผลงานออกมาได้จริง มีความสนใจที่จะพัฒนาตนเองและเรียนรู้การเขียนโปรแกรมในระดับที่สูงขึ้นต่อไป